ข้อควรรู้การร้องไห้และการอุ้ม

“ข้อควรรู้การร้องไห้และการอุ้ม”

baby-crying1
เพราะธรรมชาติกำหนดมา เนื่องจากทารกคน ทารกเสือ ทารกลิง ทารกสุนัข เมื่อแรกเกิดยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ยังต้องพึ่งพาพ่อแม่ มิฉะนั้นจะไม่มีชีวิตอยู่รอด หากเกิดออกมาแล้ว ไม่มีสัญชาตญาณการร้องไห้ พ่อแม่ก็จะไม่ทราบว่า ลูกต้องการอะไรบ้าง ปล่อยให้ลูกนอนไปเรื่อยๆ ไม่ทราบว่าต้องให้ลูกกินนมบ่อยขนาดไหน พ่อแม่ก็อาจจากลูกไปทำอย่างอื่น เช่น ออกนอกถ้ำไปหาอาหารล่าสัตว์ อาจหายไปเป็นวันๆ ลูกก็จะอดกินนมและขาดคนคอยดูแลป้องกันอันตรายอยู่ใกล้ๆ

แต่ธรรมชาติได้เตรียมความพร้อมมาแล้ว โดยการให้ลูกเคยชินกับการเคลื่อนไหวตลอดเวลาตั้งแต่อยู่ในท้องโดยการลอยไปลอยมาในน้ำคร่ำ การอยู่ในที่อุ่นๆในมดลูก การได้ยินเสียงหัวใจคุณแม่ เมื่อลูกคลอดออกมาแล้ว หากสิ่งเหล่านี้หายไป เช่น ถูกวางไว้เฉยๆ ไม่มีการเคลื่อนไหว ไม่ได้รับความอบอุ่น ไม่ได้รับการกอดสัมผัส ลูกจะรู้สึกเคว้งคว้าง และรู้สึกไม่ปลอดภัย จึงต้องร้องไห้เพื่อขอความช่วยเหลือ เมื่อลูกถูกอุ้มขึ้นมาแนบอก ได้ยินเสียงหัวใจแม่ ได้รับความอบอุ่นแนบอก มีการเดินไปมาเคลื่อนไหวเหมือนตอนที่อยู่ในน้ำคร่ำ ได้กลิ่นน้ำนมคุณแม่ซึ่งเป็นกลิ่นเดียวกับกลิ่นของน้ำคร่ำ อาการร้องไห้งอแงก็ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว 

ช่วง 3 เดือนแรกของทารกคนจึงเป็นช่วงปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ที่ลูกยังไม่คุ้นเคย ลูกจึงต้องการให้อุ้มและต้องการอยู่แนบอกอุ่นแม่ตลอดเวลา จึงควรอุ้มลูกและเอาเข้าเต้าบ่อยๆตามความต้องการของลูก ไม่ต้องดูนาฬิกา ไม่ต้องจับเวลา ไม่ต้องสงสัยว่า ทำไมลูกไม่นอนเอง ไม่เหมือนเด็กที่กินนมผงซึ่งนอนเองได้แถมหลับยาวด้วย อันนั้นเป็นสิ่งที่ผิดธรรมชาติค่ะ ส่วนการประเมินว่าลูกได้นมเหมาะสมหรือไม่ ให้ดูปริมาณอึฉี่ของลูก ถ้าเห็นว่ากินเยอะไปแล้วจน overfeeding ให้อุ้มแทนการกินพร่ำเพรื่อค่ะ

การวิจัยพบว่าเด็กที่ถูกอุ้มเยอะๆใน 3 เดือนแรกซึ่งเป็นช่วงที่ลูกต้องการมากที่สุด เมื่อโตขึ้นมาจะเป็นเด็กที่อารมณ์ดีมีความสุข มีพัฒนาการการเรียนรู้ที่ดี และเป็นเด็กที่ปรับตัวได้เก่งค่ะ

สัญชาตญาณเหล่านี้เป็นไปเพื่อการอยู่รอด และเมื่อลูกโตขึ้น พัฒนาความสามารถในการพึ่งพาตัวเองได้แล้ว เมื่อนั้น ลูกก็จะผละจากคุณพ่อคุณแม่เพื่อยืนบนลำแข้งของตัวเองได้เองในที่สุด อย่าผละลูกออกจากอกก่อนเวลาอันควรนะคะ

ที่มา แฟนเพจ:คุณหมอสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ

READ  Babyname4