ทักษะแห่งอนาคตใหม่ 21st century skills

ข่าวสำคัญในช่วงนี้คือ เหตุการณ์เรือล่มที่เกาหลีใต้ ที่ผู้โดยสารส่วนใหญ่เป็นเด็กนักเรียน เหตุการณ์นี้เกิดเมื่อวันที่ 15 เมษายน บังเอิญที่ตรงกับวันที่เรือไททานิค เรือที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกนี้ได้ล่มตั้งแต่การออกเดินเรือเที่ยวแรก แต่บทความนี้ไม่ได้จะกล่าวถึงฤกษ์ยามหรือดวงชะตาอะไรแบบนั้น เพราะบางทีผมก็เชื่อว่ามันเป็นแค่ความบังเอิญเท่านั้นเอง

ภาพเรือไททานิค

เรือล่มเกาหลี

แต่จากข่าวที่ปรากฏออกมาพบว่ามีสิ่งทีน่าสนใจมากคือ สาเหตุที่เกิดการสูญเสียมากกว่าที่ควรเป็นก็เพราะว่า เด็กนักเรียนเกาหลีใต้ส่วนใหญ่เป็นเด็กที่เชื่อฟังคำสั่ง อยู่ในกรอบเสมอ แล้วผลตอบแทนการเป็นเด็กดี เด็กที่เชื่อฟังคำสั่ง กลับกลายเป็นว่าไม่สามารถรักษาชีวิตเอาไว้ได้ คนที่รอดชีวิตเป็นคนที่ขัดขืนคำสั่งของกัปตันแทน การศึกษามีปัญหาหรือ เมืองไทยที่ว่าการศึกษาอยู่อันดับท้ายๆ จะแย่ขนาดไหนกัน เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่คงเคยได้ยินชื่อเสียงด้านการเรียนของที่เกาหลีใต้แล้วว่าเข้มข้น แข่งขันกันขนาดไหน ถึงกับมีการบนบานศาลเจ้าแบบบ้านเราเลย แต่ที่นั่นมีพิธีกรรม มีธรรมเนียมมากมาย เพราะความเชื่อว่าการศึกษานั้นสำคัญ และการศึกษา สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตได้เลย

korea learner

ว่าด้วยเรื่องการศึกษา ในวิชาดวงจีนเองให้ความสำคัญกับธาตุก่อเกิด ที่หมายถึงความสามารถทางจิตใจและทางสติปัญญา เพราะเราก็เชื่อเช่นกันว่า การศึกษาที่ดี ความรู้ที่ดีสร้างตัวตนที่ดีได้ เมื่องานหนังสือที่ผ่านมาได้จัดหนังสือแนววิชาการมาหนึ่งเล่ม ชื่อเรื่องน่าสนใจว่า ทักษะแห่งอนาคตใหม่ 21st century skills ที่สนใจเพราะน่าจะเกี่ยวกับแนวทางการศึกษา ทักษะ อาชีพที่น่าสนใจในอนาคต ส่วนหนึ่งของงานให้คำปรึกษาหาฤกษ์คลอดนี้ มิใช่เพียงให้วันเวลาที่ดี แต่ต้องอธิบายและให้คำแนะนำที่ใช้ได้จริงในชีวิตจริงด้วยเช่นกัน

ทักษะแห่งอนาคตใหม่ 21st century skills

ทักษะแห่งอนาคตใหม่ 21st century skills

กรอบความคิดเพื่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 พอจะสรุปได้คร่าวๆ ดังนี้ครับ

วิชาแกน

  • ภาษา การอ่าน การใช้ภาษา
  • ภาษาสำคัญของโลก
  • ศิลปะ
  • คณิตศาสตร์
  • เศรษฐศาสตร์
  • วิทยาศาสตร์
  • ภูมิศาสตร์
  • ประวัติศาสตร์
  • การปกครองและหน้าที่พลเมือง

แนวคิดสำคัญในศตวรรษที่ 21

  • จิตสำนึกต่อโลก
  • ความรู้พื้นฐานด้านการเงิน เศรษฐกิจ ธุรกิจ และการเป็นผู้ประกอบการ
  • ความรู้พื้นฐานด้านพลเมือง
  • ความรู้พื้นฐานด้านสุขภาพ
  • ความรู้พื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อม

ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม

  • ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม
  • การคิดเชิงวิพากษ์และการแก้ไขปัญหา
  • การสื่อสารและการร่วมมือทำงาน

ทักษะด้านสารสนเทศ สื่อ และเทคโนโลยี

  • ความรู้พื้นฐานด้านสารสนเทศ
  • ความรู้พื้นฐานด้านสื่อ
  • ความรู้พื้นฐานทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

ทักษะชีวิตและการทำงาน

  • ความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัว
  • ความคิดริเริ่มและการชี้นำตนเอง
  • ทักษะทางสังคมและการเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรม
  • การเพิ่มผลผลิตและความรู้การผลิต
  • ความเป็นผู้นำและความรับผิดชอบ

ในบทนำผู้เขียนได้กล่าวว่า การศึกษาในศตวรรษที่ 21 ต้องยึดผลลัพธ์ทั้งในแง่ความรู้ในวิชาแกนและทักษะแห่งศตวรรษใหม่ ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่โรงเรียน ที่ทำงาน และชุมชนต่างเห็นคุณค่า ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 จะช่วยเตรียมความพร้อมให้นักเรียน รู้จักคิด เรียนรู้ ทำงาน แก้ปัญหา สื่อสาร และร่วมมือทำงานได้อย่างมีประสิทธิผลไปตลอดชีวิต ไม่ว่าจะในฐานะลูกจ้างหรือนายจ้างก็ตามที

ทักษะเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่แทบไม่เคยถูกบรรจุในหลักสูตรหรือถูกประเมินเลย และถูกมองว่ามีก็ดี มากกว่า จำเป็นต้องมี ทักษะเหล่านี้จึงถูกสอนแบบตามมีตามเกิด หรือต้องเรียนรู้ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองเป็นหลัก ในระบบเดิมเด็กถูกทดสอบด้วยทักษะการจำหรือการแก้โจทย์ในกรอบเป็นหลัก แต่ความแข็งแกร่งของเด็กในยุคใหม่จะหมายถึงการมองดูสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน แล้วรู้วาจะต้องทำอะไรกับสิ่งนั้น ความแข็งแกร่ง ความเก่งจึงหมายถึง ความเป็นเลิศในเนื้อหาและทักษะควบคู่กันไป

สมัยก่อนมีคำกล่าวว่าอย่ารู้อะไรแบบเป็ด แต่เดี๊ยวนี้เราต้องพยายามทำตัวเป็นเป็ด ถ้าให้ดีต้องเป็นมีดพกสวิส ที่ทำได้หลายอย่างและทำได้ดีในหน้าที่ของมันเช่นกัน แถมต้องมีทักษะแบบไวรัสที่อยู่ง่าย อยู่ทน ปรับตัวเก่ง มีความอึดเป็นเลิศ บางทีผู้ที่ประสบความสำเร็จในปัจจุบันก็ล้วนแต่มีทั้งเนื้อหาและทักษะที่ดี อาจกล่าวได้ว่าเขาเหล่านั้นมีทักษะ มีคุณสมบัติแห่งอนาคต

แล้วเราในฐานะพ่อแม่ในประเทศที่การศึกษาแย่สุดๆ จะทำอะไรได้ เลือกโรงเรียนแพงที่สุด ที่เราคิดว่าคือสิ่งที่ดีที่สุดให้ลูก หรือพยายามพัฒนาตนเองให้เป็นแบบอย่างที่ดี พยายามปลูกฝังทักษะใหม่ๆ ที่เป็นทักษะแห่งอนาคต หรือจะให้เจ้าตัวเล็กได้ลองทำอะไรใหม่ๆ ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเจอสิ่งที่เขาชอบ สนใจจริง การวิเคราะห์ศักยภาพจากวันเกิด จากลายนิ้วมือ จากแบบทดสอบทางจิตวิทยา อาจช่วยได้ แต่ถ้าขาดการดูแล เอาใจใส่จากคุณพ่อคุณแม่คงไม่เกิดประโยชน์อันใดครับ

 

 

 

 

READ  ลำดับพัฒนาการของเด็ก